วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

ผลงานของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท

ผลงานของบุคคลสำคัญในการสร้างสรรค์ชาติไทย
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
          พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงวงษาธิราชสนิท  (พ.ศ. 2351 - 2414)  มีพระนามเดิมว่า  "พระองค์เจ้านวม"  ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับเจ้าจอมมารดาปรางใหญ่  และเป็นต้นราชสกุลสนิทวงศ์  ทรงมีความรู้ทาง
ด้านการแพทย์แผนไทย  ทรงกำกับกรมหมอและทรงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการต่างประเทศและการศึกษา
          ในวาระแห่งวันคล้ายวันประสูติครบ 200 ปีของพระองค์  องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO)  ได้ประกาศยกย่องให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกในสาขา
ปราชญ์และกวี  (Scholar and Poet)  ประจำปี พ.ศ. 2551 - 2552  และเป็นบุคคลที่มีผลงานด้านการศึกษาและวรรณกรรม  การแพทย์และการสาธารณสุข  และการต่างประเทศ
          พระราชกรณียกิจสำคัญที่มีต่อการสร้างสรรค์ชาติไทยสามารถสรุปได้ดังนี้
                    1.  ด้านการเมืองการปกครอง 
                              พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงมีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมตะวันตกและชาวตะวันตกเป็นอย่างดี  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการฝ่ายไทยร่วมกับกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคในการเจรจาทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตก  ที่สำคัญได้แก่  สนธิสัญญาเบาว์ริง  ทรงดำเนินนโยบายทางการทูตด้วยความประนีประนอมและผ่อนปรน  ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดำเนินไปด้วยดี
                  
                  
2.  ด้านการแพทย์
                              พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงนิพนธ์  "ตำราสรรพคุณยาของกรมหลวงวงษาธิราชสนิท  เล่ม 1 และเล่ม 2"  นับเป็นตำราสมุนไพรไทยเล่มแรกของไทยที่มีการจำแนกสรรพคุณของสมุนไพรตามแบบวิทยาศาสตร์การแพทย์ตะวันตก  ทรงเรียนรู้ในวิชาการแพทย์แผนตะวันตก  ทรงเป็นแพทย์ไทยพระองค์แรกที่ได้รับการถวายประกาศนียบัตรและทรงได้รับการทูลเชิญให้เป็นสมาชิกของสถาบันการแพทย์แห่งนิวยอร์ก  ประเทศสหรัฐอเมริกา
                   
                    3.  ด้านวรรณกรรม                             

                              พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงมีพระปรีชาสามารถในการประพันธ์โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน พระนิพนธ์มีหลากหลายรูปแบบทั้งสาระและการบันเทิง  เช่น  หนังสือแบบเรียนจินดามณี  เล่ม และงานตรวจสอบชำระเรื่องพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  เรื่องนิราศพระประธม  เพลงยาวสามชาย  ตำราเพลงยาวกลบท  สิงโตาเล่นหาง  โคลงภาพฤาษีดัดตน  เป็นต้น

วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

พระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท





พระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
 
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้านวม เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๔๙ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) และองค์ที่ ๒ ในเจ้าจอมมารดาปราง (ใหญ่) สายราชินิกุลบางช้าง ประสูติเมื่อวันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๑๗๐ ตรงกับวันที่ ๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๕๑ ก่อนสิ้นรัชกาลที่ ๑ เพียง ๑ ปี ในปีที่พระองค์ประสูตินั้น มีบุคคลสำคัญที่เกิดร่วมสหชาติกับพระองค์อีก ๓ ท่าน ซึ่งต่อมาได้มีบทบาทสำคัญในการบริหารแผ่นดินร่วมสมัยกับพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๔ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ ๕ และเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) สมุหนายก ในรัชกาลที่ ๔
 
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงเข้ารับราชการกำกับกรมหมอในรัชกาลที่ ๓ และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมหมื่นวงศาสนิท ทรงศึกษาวิชาการแพทย์สมัยใหม่จากมิชชันนารีอเมริกัน ถึงแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ ทรงกำกับราชการมหาดไทย ว่าพระคลังสินค้า และเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินด้วย ในรัชกาลที่นี้ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมหลวง ทรงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาและการเมือง ในระดับนานาชาติเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศชาติรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก ทรงเป็นนักอักษรศาสตร์ นักปราชญ์ กวี นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ นักวิทยาศาสตร์ นักการทูตพระองค์สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันพุธ เดือน ๑๐ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมะเมีย โทศก ตรงกับวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๔ รวมพระชันษาได้ ๖๓ ปี ทรงเป็นต้นราชสกุลสนิทวงศ์

       
         
พระกรณียกิจของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท มีหลากหลายประการ ซึ่งนอกจากการบริหารราชการแผ่นดินดังกล่าวแล้ว ยังประกอบด้วยพระกรณียกิจด้านวรรณกรรมและการศึกษา ได้แก่ ทรงพระนิพนธ์นิราศพระประธม เพลงยาวสามชาย เพลงยาวกลบทสิงโตเล่นหาง พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ที่ทรงนิพนธ์ขึ้นตามพระราชบัญชาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือจินดามณีฉบับพระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท หรือประถมจินดามณี เล่ม ๒ พระกรณียกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ได้ทรงแต่งตำราสรรพคุณยา


สมุนไพรไทย จำนวน ๑๖๖ ชนิด เป็นตำราสมุนไพรเล่มแรกของไทยที่เขียนแบบเอกสารทางวิชาการ แจกแจง และวิเคราะห์ส่วนต่าง ๆ ของพืชสมุนไพรแต่ละชนิด ทรงเป็นแพทย์ไทยพระองค์แรกที่ได้รับประกาศนียบัตรถวายเป็นพระเกียรติยศจากสถาบันการแพทย์ของยุโรป และได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกของสถาบันการแพทย์แห่งนิวยอร์ก ชาวต่างชาติในสยามเรียกขานพระองค์ว่า The Prince Doctor อีกทั้งพระองค์ยังทรงจารึกคำประพันธ์ไว้บนแผ่นหิน บรรยายถึงการบำบัดโรคด้วยสมุนไพร และการออกกำลังกายในท่าต่าง ๆ ที่เรียกว่า ฤๅษีดัดตน ที่มีเรียงรายอยู่ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์

       
ในด้านการต่างประเทศทรงเป็นประธานในการเจรจาทำสนธิสัญญาทางไมตรีจิตและพาณิชย์ระหว่างอังกฤษกับไทยในช่วงที่บ้านเมืองกำลังเผชิญปัญหาการคุกคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตก รวมทั้งการต้องเป็นแม่ทัพหลวงไปทำสงครามเมืองเชียงตุงด้วย


         
ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพ กอปรทั้งพระดำริที่ทรงมุ่งมั่นประกอบพระกรณียกิจอันยังประโยชน์นานัปการให้แก่ประชาชนชาวไทย และประเทศชาติ สืบทอดมาถึงปัจจุบัน ดังนั้นในพุทธศักราช ๒๕๕๑ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกที่สนับสนุนการสถาปนาสันติวัฒนธรรม โดยการปฏิสัมพันธ์ระหว่างอารยธรรม ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ในการส่งเสริมการสมานฉันท์ในสังคม ความเข้าใจ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความสำเร็จในการเจรจาทางการทูตและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม ทำให้ทรงเป็นที่รู้จักในเอเชีย ยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะนโยบายด้านการต่างประเทศโดยใช้วัฒนธรรมและสันติภาพ ทำให้ประเทศไทยหรือสยาม ทำสนธิสัญญากับประเทศต่าง ๆ ได้


         
ในโอกาสที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงมีพระชนมายุครบ ๒๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องให้พระองค์ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านปราชญ์และกวี (Scholar & Poet)เป็นบุคคลลำดับที่ ๑๘ ของประเทศไทยที่ได้รับการประกาศยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก
ฉลอง 200 ปี กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ปราชญ์ กวีของโลก

ในโอกาสที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ต้นราชสกุลสนิทวงศ์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะที่ทรงเป็นปราชญ์และกวีของโลก ปี 2551-2552 นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยยิ่งนัก 

โอกาสนี้กระทรวงวัฒนธรรมและ ราชสกุลสนิทวงศ์จึงจัดงานเผยแพร่พระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพ กอปรทั้งพระดำริที่ทรงมุ่งมั่นประกอบพระกรณียกิจอันยังประโยชน์ให้แก่ประเทศ ชาติและชาวไทยสืบทอดมาถึงปัจจุบันในงาน ฉลอง 200 ปี ปราชญ์และกวีของโลก กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ชีวิตต้นกรุง ณ วัดอรุณฯ 

พระประวัติและพระกรณียกิจของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ที่เป็นความภาคภูมิใจของราชสกุลสนิทวงศ์ ได้ถูกถ่ายทอดให้ทราบกันโดย พล.อ.อ.อนุพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ทายาทรุ่นที่ 5 ว่า




พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้านวม เป็นพระโอรสองค์ที่ 49 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และเจ้าจอมมารดาปราง  (ราชินิกุลบางช้าง) ประสูติเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2351 ทรงเป็นพระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงรับราชการบำเพ็ญพระกรณียกิจเป็นประโยชน์ต่อประเทศมาจนถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 5 และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2414 พระชนมายุ 63 ชันษา โดยทรงเป็นต้นราชสกุล สนิทวงศ์ 

คนในราชสกุลสนิทวงศ์มีประมาณ 2,000 คนได้ ถ้านับเจเนอเรชั่นตอนนี้ก็รุ่นที่ 8 แล้ว รุ่นผมเรียกว่าเป็นโหลน เพราะผมเป็นเหลนของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ หรือหม่อมเจ้าสาย สนิท-วงศ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ รักษาการแทนผู้บัญชาการทหารเรือคนแรกของไทย พระโอรสในกรมหลวงวงษาธิราชสนิท พวกเราภูมิใจในบรรพบุรุษมาก พระองค์ทรงทำประโยชน์คุณูปการให้แก่ประเทศมากมายหลายวงการทั้งด้านการศึกษา ภาษาและวรรณคดี การทูต การแพทย์  


พล.อ.อ.อนุพันธ์ เล่าต่อว่า กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงเข้ารับราชการกำกับกรมหมอในรัชกาลที่ 3 ทรง ศึกษาวิชาการแพทย์ สมัยใหม่จากมิชชันนารีอเมริกัน นอกจากนี้เมื่อพระชนมายุ 34 ชันษา ทรงนำความรู้เกี่ยวกับยาและสมุนไพรไทย ซึ่งทรงศึกษารวบรวมมาจากครอบครัวฝ่ายพระมารดาที่ขึ้นชื่อด้านนี้ ทรงแต่งตำราสรรพคุณสมุนไพรไทย จำนวน 166 ชนิด เป็นตำราสมุนไพรเล่มแรกของไทยที่เขียนแบบเอกสารทางวิชาการ และวิเคราะห์ส่วนต่างๆ ของพืชสมุนไพรแต่ละชนิด อีกทั้งยังทรงจารึกคำประพันธ์ไว้บนแผ่นหิน บรรยายถึงการบำบัดโรคและการออกกำลังกายในท่าต่างๆที่เรียกว่าฤาษีดัดตนไว้ที่วัดโพธิ์อีกด้วย

พระองค์สนพระทัยในการศึกษาวิชาแพทย์ตะวันตกด้วย ทรงเปิดกว้างรับทั้งแพทย์โบราณและแพทย์สมัยใหม่ โดยทรงศึกษาจากหมอบรัดเลย์ จากนั้นก็ทรงอนุญาตให้มีการผ่าตัด และทดลองปลูกฝี ป้องกันไข้ทรพิษเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2381 พระองค์ทรงได้รับการถวายพระเกียรติจากสถาบันการแพทย์ของยุโรปและเป็นสมาชิกสถาบันการแพทย์แห่งนิวยอร์ก ซึ่งชาวต่างชาติขานพระนามพระองค์ว่า ปริ๊นซ์ ด็อกเตอร์ ด้วยคุณงามความดีเหล่านี้พระองค์จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมหลวงในรัชกาลที่ 4  


ที่จริงเริ่มตั้งแต่พระองค์เจ้าสาย พระโอรสของพระองค์เลยทีเดียว ทรงกำกับกรมหมอหลวงและทรงเป็นแพทย์ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 5 และทรงนำเอาตำราพระบิดามาใช้ด้วย  จากนั้น ม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ คุณปู่ของผมซึ่งเป็นลูกของพระองค์ เจ้าสาย ก็ได้สืบทอดวิชาแพทย์ต่อ โดยถูกส่งไปเรียนที่สกอตแลนด์ ตอน 9 ขวบ และจบ แพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก กลายเป็นแพทย์ไทยคนแรกที่เรียนจบมาจากต่างประเทศ ส่วนรุ่นหลังๆ ที่เป็นหมออีกก็มี เช่น พล.ท.ม.ล.จินดานพ.ม.ล.เกษตรนพ.ม.ล.ดนัย ท่านเหล่านี้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ และ นพ.วงศ์กุลพัฒน์ ส่วนคนที่เก่งด้านภาษาตามพระองค์ท่านก็มี เช่น ท่านผู้หญิงพวงร้อย (ที่แต่งเพลงบัวขาว), ท่านผู้หญิงมณีรัตน์, ท่านผู้หญิงนิออน
  
ด้วยความที่ทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 ผู้ทรงเป็นอัครศิลปิน และทรงเป็นศิษย์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในขณะที่ทรงผนวชเป็นสามเณร ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านอักษรศาสตร์ ทั้งอักขรวิธีภาษาไทย ขอม และมคธ รวมทั้งวรรณคดี วิชาโบราณคดีและราชประเพณี ทำให้พระองค์มีความแตกฉานทั้งโคลงฉันท์ กาพย์ กลอน ทรงมีงานกวีนิพนธ์ที่มีชื่อเสียงเยอะทีเดียว อย่าง นิราศพระประธาน เพลงยาวสามชาย เพลงยาวกลบสิงโตเล่นหาง และที่สำคัญ พระองค์ทรงนำตำราภาษาไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา จินดามณี ซึ่งมีหลายฉบับมาประมวลใหม่ ทรงแก้ไขอธิบายหลักเกณฑ์การใช้ภาษาไทยให้กะทัดรัดและเข้าใจง่าย อีกทั้งยังเป็นเนื้อหาที่เข้าได้กับทุกยุคทุกสมัย มีความหมายเป็นคติสอนใจ เน้นคุณธรรม จริยธรรม เป็นการยกระดับจิตใจของผู้อ่านด้วย  

นอกจากนี้ พล.อ.อ.อนุพันธ์ยังเล่าถึงพระอัจฉริยภาพอีกด้านที่สำคัญของกรมหลวงวงษาธิราชสนิทคือ การทูตและการต่างประเทศ ที่ทรงเป็นปราชญ์และนักปกครอง ทรงกำกับราชการมหาดไทยและทรงเป็นประธานในการเจรจาทำสนธิสัญญากับต่างชาติ โดยดำเนินการผ่อนปรนเชิงการทูต ถ่วงดุลอำนาจระหว่างชาติตะวันตก สร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมเพื่อให้พ้นจากการสูญเสียเอกราช และทรงเป็นประธานในการเจรจาทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ระหว่างไทยและอังกฤษ ซึ่งกลายเป็นตัวอย่างการทำสนธิสัญญาแบบเดียวกันกับประเทศอื่น ต่อมาทรงริเริ่มแนวคิดด้านวัฒนธรรมเพื่อสันติ โดยมีหลักการยอมรับการประนีประนอม หลีกเลี่ยง การเผชิญหน้าที่ทำลายการเจรจาและนำไปสู่การใช้กำลัง ซึ่งกลายเป็นนโยบายที่ประเทศไทยใช้มาตลอดศตวรรษที่ 20 ทั้งสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช และสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ 


จากเอกสารทูตฝรั่งหลายคนบอกว่าท่านเป็นเจ้านายใจดี มีความทันสมัยใหม่ นักวิชาการหลายคนรู้จักท่าน แต่สาธารณชนไม่ค่อยรู้จักท่านเท่าไหร่ ผลงานของพระองค์ท่านถูกเก็บเอาไว้หลายหน่วยงานอย่างตำราสูตรยาแผนโบราณมีอยู่ที่สถาบันการแพทย์แผนไทย ร่วมยาหรือกระเป๋ายา มีอยู่ในอุทยานรัชกาลที่ 2 ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ก่อนหน้านี้มีลูกหลานในสนิทวงศ์คนหนึ่งได้รวบรวมพระประวัติของพระองค์ท่านตามห้องสมุดมารวบรวมเป็นเอกสารสำคัญ ก็ทำให้คนได้รู้จักพระองค์ท่านมากขึ้น และงานฉลอง 200 ปีนี้ก็จะเป็นการเผยแพร่พระเกียรติประวัติของท่านด้วยเป็นครั้งแรก  

งานกรมหลวงวงษาธิราชสนิท  ชีวิตต้นกรุง  ณ วัดอรุณฯ เป็นงาน หนึ่งในหลายๆงานที่จัดเฉลิมฉลอง ที่ทรงได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลดีเด่นของโลกติด ต่อกัน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.ปีที่แล้ว ที่เป็นวันครบรอบวันประสูติ 200 ปี  ซึ่งปีที่แล้ว ก็จัดให้มีการสัมมนาเรื่องภาษาไทย โดยการฉลองจะจัดให้ครบด้าน ทั้งด้านภาษา การแพทย์ และการทูต จนถึงวันที่ 9 ก.ค.ปีนี้ ส่วนงานฉลองที่วัดอรุณฯนี้จะมีลักษณะย้อนยุคของสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยที่เลือกวัดอรุณฯเพราะเป็นวัดของรัชกาลที่ 2 พระศพของพระองค์ท่านก็อยู่ที่วัดนี้ คณะกรรมการที่จัดงานจึงเลือกการแสดงมหรสพและการละเล่นหลวงโบราณของต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่จะสูญหายนำมาแสดง อย่างโม่งครุ่ม กุลาตีไม้ ระเบง และรำโคม เหล่านี้เป็นการละเล่นของหลวงที่หาดูได้ยาก


นอกจากนี้ พล.อ.อ.อนุพันธ์บอกอีกว่า ภายในงานการแสดงโขนชักรอก ละครนอกเรื่องพระอภัยมณี ละครในเรื่องอิเหนา งิ้วพูดไทย ละครชาตรี ละครเสภา การรำกระบี่กระบอง โดยการแสดงก็จะมี 3 เวทีที่จะสลับการแสดงตลอดเวลา ส่วนบริเวณภายในงานยังจัดให้เป็นบรรยากาศแบบตลาดย้อนยุคสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีการสาธิตและจำหน่ายอาหารและขนมไทยโบราณตามกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน อย่างเช่น ขนมเรไร ช่อม่วง จ่ามงกุฎ ล่าเตียง หรุ่ม ดอกจำเจียก เป็นต้น ที่สำคัญ งานนี้เข้าชมฟรี โดยงานมีจนถึงวันที่ 8 ก.พ. เริ่มตั้งแต่เวลา 16.00-22.00 น. ที่วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร

สัมผัสความงดงามยามพระอาทิตย์ลับฟ้ากับบรรยากาศชีวิตต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พร้อมร่วมเป็นหนึ่งในการอนุรักษ์และฟื้นฟูนาฏศิลป์ไทยโบราณในงานฉลอง 200 ปี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท งานที่ชาวไทยภาคภูมิใจ.